ประวัติโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา

ประวัติโรงเรียนหญิงในจังหวัดสงขลา เริ่มแต่ พระยาสุขุมนัยวินิต สมุหเทศาภิบาล (เจ้าพระยายมราชปั้น สุขุม) ได้นำครูเทียบมาเป็นครูใน พ.ศ.2449 นัยว่าพระยาสุขุมฯ รวบรวมเงินบริจาคพ่อค้าข้าราชการให้เป็นเงินเดือน แต่ได้รับอุปการะอยู่ราว 6 เดือน พระยาสุขุมฯ ย้ายไปกรุงเทพฯ ครูเทียบต้องไปเช่าห้องแถวถนนนครใน ทำการสอน (สอนคนเดียว) และเก็บค่าเล่าเรียน (ราวเดือนละ 2 สลึง)

เมื่อพระยาวิฑูรดรุณกร (วารี ชิตวารี) มาเป็นกรรมการมณฑล เมื่อ พ.ศ.2458 จึงได้ครูนิล รุจิธรรมมาเป็นครู (ได้เงินเดือนหลวง) สอนที่บ้านพระยาอรรถกวีสุนทรอัยการจังหวัด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2459 ในวันเปิดเรียน มีนักเรียนชาย 20 คน

ในปี พ.ศ.2464 พระยาสุริยวงศ์ประวัติ พระยาวิฑูรดรุณกร ได้จัดการสร้างอาคารเรียนในที่ดินวัดแจ้งเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว นับเป็นอาคารเรียนหลังแรกของวรนารีเฉลิม ประวัติแน่ชัดของโรงเรียนจึงเกิดที่นี่ ในปีนั้นสมเด็จพระน้องยาเธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ทรงดำรงตำแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระมาตุจฉาเจ้า ซึ่งเสด็จประพาสสงขลา ได้ทรงเปิดโรงเรียนและขอพระราชทานนามโรงเรียนว่า "วรนารีเฉลิม" พร้อมพระราชทาน ตราประจำพระองค์ "กรอบพักตร์" เป็นตราประจำโรงเรียน และทรงปลูกต้นพิกุลเป็นที่ระลึก

ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มาตรวจราชการจังหวัดสงขลา ได้เห็นความเจริญก้าวหน้า มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งยังมีแผนกฝึกหัดครูประกาศนียบัตรและครูมูล สถานที่เดิมคับแคบ ไป ควรหาสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนขึ้นใหม่ ทางจังหวัดมีพระยารามราชภักดีเป็นข้าหลวงประจำจังหวัดและขุนศิลปกรรมพิเศษ (แปลก ศิลปกรรมพิเศษ) เป็นกรรมาธิการจังหวัด เลือกที่ดินริมถนนปละท่าตรงข้ามวัดสระเกษม สร้างอาคารเรียนตึก 2 ชั้น ราคา 43,700 บาท เสร็จเรียบร้อย แล้วย้ายนักเรียนออกจากโรงเรียนเดิมมาเรียนในที่ใหม่ ทำพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2484 ในสมัย ม.ล.ประชุมพร ไกรฤกษ์ เป็นอาจารย์ใหญ่

อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนนี้ได้ถูกรื้อถอนไป เมื่อ พ.ศ.2522 เพราะสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ได้เป็นอาคารเรียนของศิษย์ ว.ฉ. อยู่ร่วม 38 ปี และได้รับเงินงบประมาณ ปี 2533 จำนวน 6,360,000 บาท สร้างอาคารเรียน 4 ชั้นขึ้นแทน ในสมัยอาจารย์อาภรณ์ สาครินทร์ เป็นผู้อำนวยการ

โรงเรียนวรนารีเฉลิม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีเด่น รับรางวัลพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงมอบหมายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้พระราชทานเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2529

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2529 ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี มาตรวจราชการจังหวัดสงขลา ได้มอบเงินสด 1 แสนบาท เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ "ขยัน ติณสูลานนท์" โรงเรียนวรนารีเฉลิมมีผู้บริจาคสมทบได้ก่อตั้งมูลนิธิรวมทั้งสิ้น 306,000 บาท

ในวันที่ 16 ธันวาคม 2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงพระกรุณาฯ รับโรงเรียนวรนารีเฉลิมไว้ในพระอุปถัมภ์ ยังความชื่นชมยินดีให้แก่ชาววรนารีเฉลิมหาที่เปรียบมิได้

สิ่งเหล่านี้เป็นความภาคภูมิใจของชาววรนารีเฉลิมเป็นอย่างยิ่ง คณาจารย์วรนารีเฉลิมทุกคนได้ตั้งปณิธานที่จะดำเนินทุกอย่างที่ดีที่สุด ทั้งในด้านการเรียนการสอน การอบรมจริยธรรมแก่นักเรียน การให้บริการแก่ชุมชน เพื่อรักษาเกียรติยศอันสูงสุดไว้คงอยู่คู่กับชื่อพระราชทาน "วรนารีเฉลิม" ตลอดไป

ต่อไปเป็นการคัดเอาเรื่องการเปิดโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดสงขลา จากวิทยาจารย์ เล่มที่ 22 ตอนที่ 11 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2465 ซึ่งเป็นข้อความในคำกราบบังคมทูลของสมเด็จพระน้องยาเธอฯ และพระราชดำรัสตอบ จะเป็นประวัติตอนหนึ่งของโรงเรียนอย่างดียิ่ง

วันที่ 17 มิถุนายน 2464 เจ้าพนักงานได้ตกแต่งคฤหสถานและพลับพลายกในบริเวณโรงเรียนด้วยธงไตรรงค์ ประกอบด้วยดอกไม้สด จัดห้องมุขเป็นห้องพิธีตั้งเครื่องบูชาและอานิสงส์พร้อมสรรพ

วันที่ 18 มิถุนายน 2464 เวลา 5 นาฬิกาหลังเที่ยง สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี เสด็จจากตำหนักเขาน้อยขึ้นสู่พลับพลายก กองลูกเสือมณฑล นครศรีธรรมราชที่ 1 มหาวชิราวุธ ซึ่งตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศกระทำวันทยาวุธแตรเดี่ยวเป่าเพลงถวายคำนับสองจบ ภรรยาข้าราชการและข้าราชการ พร้อมด้วยนักเรียนสตรีเฝ้าตามลำดับ พอเวลาสมควร นายพลโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศร์อุปราชมณฑลปักษ์ใต้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าบรมราชเทวี ทรงเป็นประธานในการฉลองโรงเรียน มีพระอโนมคุณมุนีเป็นประธานเจริญพระพุทธมณฑล จบแล้วเสด็จลงจากโรงเรียนทรงปลูกต้นพิกุลที่สนามหน้าโรงเรียนเป็นฤกษ์ แล้วสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอนั้นทรงปลูกต่อ รวม 7 ต้น เสร็จแล้วเสด็จกลับ

ในคืนนั้น สมเด็จพระน้องยาเธอพระองค์นั้นโปรดให้มีการมหรสพ คือ มโนราห์โรงหนึ่ง หนังตะลุงโรงหนึ่ง เป็นการเสร็จ

ผู้อุปการะโรงเรียน

ในปีการศึกษา 2511 นางสาวรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ได้บริจาคเงินเป็นกองทุนสำหรับสร้างอาคารเรียนเป็นเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) นางอาภรณ์ สาครินทร์ อาจารย์ใหญ่จึงได้ของบประมาณปี 2512 มาสมทบอีก 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน 900,000 บาท (เก้าแสนบาทถ้วน) และทำการสร้างอาคารเรียน หลังที่ 3 ส่วนแรก โดยวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2512 ต่อมาจึงได้ของบประมาณปี 2514 มาได้อีก 1,100,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนบาทถ้วน) สร้างต่อเติมจนเต็มรูป กรมสามัญศึกษาอนุญาตให้โรงเรียนใช้ชื่อตึกเรียนหลังนี้ว่า "ตึกรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร"

นางสาวรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร ยังช่วยเหลือโรงเรียนอีกหลายด้าน อาทิ การให้ทุนการศึกษา การก่อตั้งมูลนิธิ "สมบูรณ์-ชูชาติ ประธานราษฎร์นิกร" โรงเรียนจึงได้เสนอกรมสามัญศึกษาขอให้นางสาวรัตน์ ประธานราษฎร์นิกร เป็นผู้อุปการะโรงเรียน ซึ่งกรมสามัญศึกษาเห็นชอบ และได้มอบเกียรติบัตรไว้เป็นสำคัญ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533

ปีการศึกษา 2539 ได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) เพื่อต่อเติมห้องสมุดโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา เมื่อเดือนมิถุนายน 2539 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2540

เอกสารอ้างอิง
โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา. (2547). คู่มือนักเรียน ปีการศึกษา 2547. สงขลา